หนุ่มฝากเงิน 16 ล้าน ตกบ่ายเกลี้ยงบัญชี แบงก์ดังปัดผิด อ้าง พนง.ที่ทำลาออกแล้ว
จากกรณี สื่อต่างประเทศ ได้เผยแพร่เรื่องราวของ ประเทศจีน ชายรายหนึ่งต้องเผชิญกับฝันร้าย หลังจากเงินก้อนโตที่เขาได้รับเป็นค่าชดเชยจากการถูกรื้อถอนที่ดินมูลค่า 3.3 ล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทยประมาณกว่า 16.5 ล้านบาท) หายเกลี้ยงจากบัญชี ทั้งที่เพิ่งนำไปฝากไว้กับธนาคารที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในพื้นที่ได้ยังไม่ทันข้ามวัน
เรื่องราวเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2565 นายหลิวได้รับเงินชดเชยค่ารื้อถอนจำนวนมหาศาล ด้วยความกังวลว่าการเก็บเงินสดจำนวนมากไว้กับตัวจะไม่ปลอดภัย เขาจึงตัดสินใจนำเงินทั้งหมดไปฝากไว้กับธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่งในย่านนั้น โดยหวังว่าจะปลอดภัยและยังได้รับดอกเบี้ยอีกด้วย
เช้าวันต่อมา นายหลิว จึงได้นำเงินจำนวน 16.5 ล้านบาท ไปดำเนินการฝากเข้าบัญชีธนาคาร โดยมีพนักงานชื่อ “หลี่” เป็นผู้ให้การต้อนรับและดำเนินการทำธุรกรรมให้ตามขั้นตอนจนเสร็จสิ้น
หลังจากนั้น 1 ปี นายหลิว กลับไปที่ธนาคารแห่งเดิมอีกครั้ง เพื่อขอถอนเงิน แต่กลับได้รับข่าวช็อกเมื่อพนักงานธนาคารแจ้งว่า “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของเขาไม่เหลือเงินอยู่เลยแม้แต่บาทเดียว” และเมื่อลองตรวจสอบข้อมูลการถอนเงินย้อนหลังปรากฎว่า “เงินทั้งหมดถูกถอนออกไปภายในเย็นวันเดียวกันกับที่นายหลิวนำเงินมาฝาก”
นายหลิวได้เรียกร้องให้ธนาคารชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนของสาเหตุที่เงินจำนวนมหาศาลหายไปในพริบตา ทั้งที่ฝากยังไม่ทันข้ามวัน เมื่อผลสอบสวนภายในของธนาคารดังกล่าวออก จึงพบว่า พนักงานที่ชื่อ “หลี่” ได้แอบ ปลอมลายมือชื่อของนายหลิว และทำการโอนเงินทั้งหมดเข้าบัญชีส่วนตัว ก่อนจะแจ้งลาออกในทันที
ส่วนทางธนาคารกลับพยายาม ปัดความรับผิดชอบ โดยอ้างว่า พนักงานคนนั้นไม่ได้ทำงานที่นี่แล้ว และความผิดก็ไม่ใช่ของธนาคาร เราได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ไม่มีการตกหล่นใด ๆ ทั้งสิ้น
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ได้ออกมาวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็น กล่าวว่า “ตามประมวลกฎหมายแพ่งของจีน ธนาคารในฐานะสถาบันการเงิน มีหน้าที่ต้องรับประกันความปลอดภัยของเงินฝากลูกค้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 577 ของประมวลกฎหมายแพ่งจีน ระบุชัดเจนว่า: เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดข้อผูกพันตามสัญญา ฝ่ายนั้นจะต้องรับผิดชอบตามสมควร ซึ่งอาจรวมถึงการต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันต่อไป, การแก้ไขการละเมิด หรือการชดใช้ค่าเสียหาย
ในกรณีนี้ เงินของนายหลิวถูกถอนออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต นั่นหมายความว่าธนาคารไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ในสัญญาเงินฝาก จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ไม่เพียงแต่การละเมิดสัญญาเท่านั้น การกระทำของพนักงานธนาคารที่ยักยอกทรัพย์สิน ยังนำไปสู่ความรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งของจีนอีกด้วย
กฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า หากพนักงานก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นในระหว่างการปฏิบัติงาน นายจ้าง (ในที่นี้คือธนาคาร) จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย แม้ว่าพนักงานจะอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการกระทำการทุจริต แต่การกระทำนั้นเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงานที่ธนาคาร ดังนั้นธนาคารจึงไม่สามารถโยนความผิดทั้งหมดให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลได้ หลังจากที่ธนาคารชดใช้ค่าเสียหายให้นายหลิวแล้ว ธนาคารสามารถดำเนินการฟ้องร้องพนักงานแซ่หลี่เป็นรายบุคคลเพื่อเรียกคืนเงินที่สูญเสียไปตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป”